Monday, August 31, 2009

สมุนไพรบุนนาค ดอกหอมคุณค่อเยอะ

ไม้ต้นนี้ พบขึ้นทั่วไปในป่าดิบทางภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย สูงจากระดับนํ้าทะเลตั้งแต่ 50-700 เมตร จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีดอกสวยงามและมีกลิ่นหอมชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกแพร่หลายมาแต่โบราณ ส่วนใหญ่ ปลูกตามหัวไร่ ปลายนา หรือตามเรือกสวนทั่วไป เพื่อเก็บเอาดอกขายเป็นสินค้าให้คนซื้อไปใช้อบทำเครื่องหอมได้ดีมาก และจากความงดงามและกลิ่นหอมของดอกดังกล่าว บุนนาค ยังถูกนำไปรวมไว้ในบทเพลง ได้รับความนิยมจากผู้ฟังอย่างกว้างขวางในอดีตอีกด้วย
บุนนาค ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรชั้นดี โดย ใบ ใช้ตำพอกบาดแผลถูกหอกดาบ ดอก ปรุงเป็นยาบำรุงโลหิต ระงับกลิ่นกาย หรือสมัยก่อนนิยมเรียกว่า แก้สาบสางในกาย เปลือกต้น ใช้กระจายหนอง กะพี้ แก้เสมหะในคอ แก่น แก้เลือดออกตามไรฟัน โดยต้มอม ราก ขับลมในลำไส้ แพทย์ชนบทใช้ดอกปรุงเป็นยาหอม แต่งกลิ่นแต่งรสทำให้รับประทานง่ายขึ้น และเป็นยาหอมบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื้น แก้ร้อนกระสับกระส่าย แก้ลมวิงเวียนทำให้หน้ามืด ใจสั่น อ่อนเพลีย หัวใจหวิว ทำให้ชูกำลัง ราก ยังใช้พอกแผลสด แก้พิษงูได้ด้วย ประโยชน์อย่างอื่น เนื้อไม้ ใช้ทำหมอนรองรางรถไฟ ก่อสร้าง ต่อเรือ ทำพานท้ายและรางปืน ด้ามร่มทนทานมาก น้ำมันที่กลั่นจากเมล็ดใช้จุดตะเกียงได้ และทำเครื่องสำอางหลายอย่างด้วย
บุนนาค หรือ MESUA FER-REA LINN. อยู่ในวงศ์ GUTTIFERAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 15-25 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทรงกรวยควํ่า ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปใบหอกหรือขอบขนาน ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ใบอ่อนเป็นสีชมพู ใบแก่มีคราบสีขาวหลังใบ

ดอก ออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุก 2-3 ดอก ตามซอกใบ มีกลีบดอก 4 กลีบ เป็นรูปไข่กลับ สีขาว หรือ สีเหลืองอ่อน ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-10 ซม. มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ดอกมีกลิ่นหอมแรงและหอมไกล เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ประทับใจมาก ผลรูปไข่มีเมล็ด 1-2 เมล็ด ดอกออกช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคมทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขนาดใหญ่ วางขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณจำหน่ายไม้ยืนต้นปราจีนบุรี ราคาสอบถามกันเองครับ.

ที่มา : คอลัมน์เกษตรกรบนแผ่นกระดาษ โดย...นายเกษตร นสพ. ไทรัฐ


ความรู้เรื่องบุนนาค

บุนนาคเป็นพืชยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ถือเป็นต้นไม้มงคล โดยคนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดที่ปลูกต้นบุนนาคไว้ประจำบ้าน จะทำให้เป็นผู้มีความประเสริฐและมีบุญ นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่ายังสามารถป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ จากภายนอกได้อีกด้วย


ก่อนที่จะมาวิเคราะห์ว่าทำไมคนโบราณถึงได้มีความเชื่อแบบนั้น มาทำความรู้จักกับต้นบุนนาคกันก่อนดีกว่า

บุนนาคมีชื่ออื่น ๆ คือ ก๊าก่อ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ก้ำก่อ ปะนาคอ (มาเลย์-ปัตตานี) สารภีดอย (เชียงใหม่) Indian rose chestnut tree, Iron wood มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mesua ferrea Linn. วงศ์ Guttiferae เป็นพืชยืนต้น สูง 15-25 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทึบรูปกรวยคว่ำ ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดงเข้มสวยงาม สีคล้ายยอดมะม่วงอ่อน ใบเดี่ยวรูปเรียวยาวแคบ ปลายแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มด้านล่างสีเขียวอ่อนเกือบขาว ดอกออกเป็นช่อ ช่อละ 3-4 ดอก กลีบดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เกสรตัวผู้มีจำนวนมากกระจุกเป็นฝอยสีเหลืองสดใส ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมของทุกปี



ในตำรายาแผนไทย พบว่าแทบทุกส่วนของบุนนาคนำมาใช้ประโยชน์ทางยาได้หมด


ดอก มีรสหอมเย็น ขมเล็กน้อย ใช้บำรุงโลหิต บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น แก้ร้อนในกระสับกระส่าย แก้ลมกองละเอียด วิงเวียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น บำรุงกำลัง แก้กลิ่นสาบสางในร่างกาย ในพิกัดยาของเภสัชกรรมแผนไทย ดอกบุนนาคยังจัดอยู่ในเกสรทั้ง 5 ซึ่งประกอบด้วยดอกไม้ 5 ชนิด ได้แก่ มะลิ พิกุล บุนนาค สารภี และเกสรบัวหลวง เกสรทั้ง 5 มีสรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ชูกำลัง บำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน


ใบ ใช้รักษาบาดแผล แก้แผลสด แก้พิษงู คุมกำเนิด

เปลือกต้น ฟอกน้ำเหลือง แก้พิษงูกัด แก้ฟกช้ำ กระจายหนอง

กระพี้ แก้เสมหะในลำคอ แก้สะอึก

แก่น แก้เลือดออกตามไรฟัน ขับลมในลำไส้ บำรุงโลหิต แก้กลิ่นเหม็นสาบในร่างกาย แก้รัตตะปิตตะโรค (โรคที่มีอาการเลือดจับเป็นก้อนภายในเนื่องจากการกระทบกระแทก) แก้โลหิตกำเดา แก้ไข้ไข้สัมประชวร (ไข้เรื้อรัง ทำให้ร่างกายซูบผอม เบื่ออาหาร ไม่มีแรง) ชูกำลังใจ ทำให้ชุ่มชื่น

ราก ขับลมในลำไส้ บำรุงโลหิต แก้กลิ่นเหม็นสาบในร่างกาย แก้โลหิตกำเดา แก้ไข้สัมประชวร ชูกำลังใจ ทำให้ชุ่มชื่น นอกจากนี้รากบุนนาคยังจัดอยู่ในพิกัดทเวคันธา คือพิกัดที่ประกอบด้วยตัวยาที่มีกลิ่นหอม 2 อย่าง ได้แก่ รากบุนนาคและรากมะซาง

การศึกษาด้านพฤกษเคมีพบว่า ดอกบุนนาคประกอบด้วยสารเคมีต่าง ๆ หลายกลุ่ม เช่น คูมาริน (เช่น 4-alkyl- and 4-phenylcoumarins) แซนโธน (เช่น 1,5-dihydroxy-3-methoxyxanthone, 1,6-dihydroxyxanthone) ไตรเทอร์ปีน (เช่น β-amyrin) กรดไขมัน (เช่น palmitic, palmitoleic, oleic acids) ฯลฯ มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า สารในกลุ่มคูมารินหลายชนิดที่พบในดอกบุนนาคสามารถต้านแบคทีเรียชนิดกรัมบวกได้ดีนอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่น ๆ ของบุนนาค เช่น ต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้ คลายกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลม ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต ขับพยาธิ

มีรายงานการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าสารสกัดเอธานอล 50% ของส่วนเหนือดิน และเอธานอล 50% ของใบ ฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร มีค่าความเข้มข้นที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เป็น 500 มก/กก และ 750 มก/กก ตามลำดับ สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของดอกบุนนาคเมื่อฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร มีค่า LD50 เป็น 2.66 /กก และ 1.16 /กก ตามลำดับ เมื่อให้ทางปาก มีค่ามากกว่า 10.06 /กก และ 4.01 /กก ตามลำดับ จะเห็นได้ว่า ดอกบุนนาคมีความเป็นพิษน้อยมาก


จะเห็นได้ว่า บุนนาคเป็นพืชยืนต้นที่มีรูปทรงสวยงาม เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลากหลาย แทบทุกส่วนมีสรรพคุณทางยา มีดอกขนาดใหญ่สวยงามที่มีกลิ่นหอมและเป็นตัวยาสำคัญตัวหนึ่งในพิกัดเกสรทั้ง 5 ซึ่งมีสรรพคุณที่เน้นการบำรุงหัวใจและจิตใจ แก้ลมวิงเวียน นอกจากนี้ดอกบุนนาคยังนำมาใช้ผสมสี เพื่อให้สีติดทน เมล็ดมีน้ำมันที่นำมาใช้จุดตะเกียงและทำเครื่องสำอางได้ ถึงแม้บุนนาคจะเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตช้า แต่ก็เป็นพืชที่มีอายุยืนเป็นร้อยปี เป็นพืชไม่ผลัดใบ มีใบแน่นทึบ ได้รับการยกย่องว่าเป็นไม้ที่มีใบสวยงาม หากมีการนำมาปลูกไว้ใกล้บ้าน ก็ย่อมเป็นไม้ที่ให้ร่มเงาได้ดี ให้ดอกที่นอกจากมีความสวยงามแล้วยังมีกลิ่นหอมที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางยาได้อีกด้วย จึงไม่แปลกที่คนไทยโบราณจัดบุนนาคให้เป็นไม้มงคล เพื่อเป็นกุศโลบายที่จะส่งเสริมให้ปลูกอนุรักษ์ไว้ อย่างน้อยที่สุดก็สามารถให้ประโยชน์แก่ผู้ปลูกทั้งในด้านกายภาพ ชีวภาพ และจิตใจ

เอกสารอ้างอิง


1. นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร. 2541. สมุนไพร..ไม้พื้นบ้าน (2) บริษัทระชาชนจำกัด กรุงเทพมหานคร 640 หน้า.


2. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. เภสัชกรรมไทย : รวมสมุนไพร พิมพ์ครั้งที่ 2 โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์ กรุงเทพมหานคร 480 หน้า.

3. กองการประกอบโรคศิลปะ. ไม่ระบุปีพิมพ์. ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร 277 หน้า.

4. Verotta, L., Lovaglio,E., Vidari, G., Finzi, P.V., Neri, M.G., Raimondi, A., Parapini, S., Taramelli, D., Riva, A., and Bombardelli, E. 2004. 4-Alkyl- and 4-phenylcoumarins from Mesua ferrea as promising multidug resistant antibacterials, Phytochemistry 65 : 2867-2879.